เลือดจระเข้แคปซูลสู่มาตรฐานคุณภาพระดับสากล

เลือดจระเข้แคปซูลสู่มาตรฐานคุณภาพระดับสากล

 

เลือดจระเข้_330x248_7

         

         กรรมวิธีในการผลิตเลือดจระเข้ระเหิดแห้งรูปแบบบรรจุเป็นแคปซูลนั้นทำให้กลายเป็น "ผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แคปซูล" เพื่อใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้จากเลือดจระเข้ยังไม่เคยมีมาก่อน จึงได้ศึกษาพิษวิทยาถึงระดับเรื้อรังในหนูทดลอง ผลแสดงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แคปซูล ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในปี พ.ศ. 2552 ได้พิจารณาอนุมัติ "เลือดจระเข้แคปซูล" นวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยผู้เขียยนและคณะวิจัยเป็น "ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร" ชนิดใหม่ของประเทศไทยและของโลก

         นวัตกรรม "เลือดจระเข้แคปซูล" ผลผลิตงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร. วิน เชยชมศรี และทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในระดับอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างมากและต่อเนื่อง ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจคือ ก่อนที่จะมีการวิจัยครั้งนี้ฟาร์มจระเข้มีวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงจระเข้เพียงแค่เพื่อจำหน่ายหนังจระเข้ และเนื้อจระเข้เพื่อรับประทาน ส่วนเลือดจะถูกทิ้งไปปะปนกับน้ำในกระบวนการชำแหละ จนเมื่อมีการศึกษาวิจัยนี้ขึ้นเลือดจระเข้กลายเป็นวัตถุดิบที่สร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงและทำฟาร์มจระเข้ และยังลดปัญหาของเสียที่ถูกปล่อยไปกับน้ำซึ่งทำให้เกิดผลดีต่อสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทยด้วยการศึกษาวิจัยอย่างครบถ้วนเป็นครั้งแรกในโลก เมื่อผลิตออกมาในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร "เลือดจระเข้แคปซูล" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของโลก และเริ่มมีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศบ้างแล้ว

         ปัจจุบันมีการวิจัยต่อยอดการศึกษาเบือดจระเข้ให้ลึกซึ้งขึ้นได้เป็นผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แห้งจากฮีโมไลเสทเลือดจระเข้ (Hemolysate crocodile blood) โดย "ฮีโมไลเสท" มีส่วนประกอบหลักของโปรตีนฮีโมโกลบินจากเม็ดเลือดแดง และโภชนสารสำคัญต่างๆในซีรัม ฮีโมโกลบินของจระเข้มีฤทธิ์ทางชีวภาพได้หลายอย่าง เช่น ฤทธิ์ต้านจุลชีพ (Antimicrobial) ฤทธิ์ต้านต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (Anti-inflammation) และฤทธิ์การสมานบาดแผล (Wound healing) ฯลฯ ภายในโครงสร้างโปรตีนของฮีโมโกลบินจระเข้มีองค์ประกอบของธาตุเหล็กที่มากกว่าของคนสามารถจับกับออกซิเจนได้มาก จึงส่งผลให้จระเข้สามารถดำน้ำได้เป็นระยะเวลานานๆ นอกจากนี้ ในส่วนของซีรัมจระเข้ยังอุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆที่มีประโยชน์ รวมถึงสารคล้ายอินซูลิน (Insulin like growth factor-I, IGF-I) ที่มีส่วนช่วยในการลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ระดับหนึ่งในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นในการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน

         "กัมมี่เยลลี่" ที่มีผงเลือดจระเข้เป็นส่วนประกอบเพื่อให้เด็กรับประทานได้ง่ายแทนแบบแคปซูล เพิ่มโปรตีน เสริมภูมิในเด็กที่มีภาะวะภูมิแพ้ การพัฒนาสูตรของเลือดจระเข้แคปซูลใหม่ๆ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบจากจระเข้อื่นๆเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เช่น น้ำมันจระเข้ กระดูกจระเข้ ดีจระเข้ คอลลาเจนจากจระเข้ เป็นต้น ซึ่งหากสามารถวิจัยและพัฒนาต่อยอดได้ย่อมเป็นผลดีต่อประเทศทั้งในเรื่องการสร้างนวัตกรรมใหม่ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สร้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงสร้างผู้ประกอบการใหม่ๆอันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย

 

         ปัจจุบันกระบวนการที่สำคัญของการผลิตผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แคปซูล ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5074 กรรมวิธีการเตรียมผงเลือดจระเข้แห้งและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกรรมวิธีนั้น อายุการคุ้มครองสิทธิได้หมดอายุการคุ้มครอง ทำให้เปิดโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการส่งออกต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมในระดับสากลจึงได้สนับสนุนการยกระดับเข้าสู่มาตรฐานคุณภาพระดับสากล ได้แก่ หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Pratice : GMP) การวิเคราะห์อันตรายจุดควบคุมวิกฤต (Hazard Analysis Critical Control Points : HACCP) และ ISO (International Organization for Standardization) เช่น ISO 9001 : 2015 เป็นมาตรฐานสากลที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อความเป็นเลิศทั้งทางด้านคุณภาพ และความมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานภายในองค์กร มาตรฐานคุณภาพเหล่านี้จะให้ผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทางในการพัฒนายกระดับมาตรฐานการผลิตของตนเองและเพื่อนำไปใช้ในการป้องกัน กำจัดและลดอันตรายต่างๆที่อาจเกิดการปนเปื้อนด้วยกายภาพทางด้านจุลินทรีย์ และทางด้านเคมีเพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นปลอดภัยในการบริโภค

         ซึ่งจากที่กล่าวมานั้นได้มีการให้คำปรึกษาแนะนะกับบริษัท ซี เอส จี โปรดักส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ในการผลิตผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แคปซูลจนได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GMP, HACCP และ ISO 9001 : 2015 จากหน่วยงานรับรองมาตรฐาน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560

 

(อ้างอิงจาก : วิน เชยชมศรี. (2562). เลือดจระเข้, (1), 97-108.)