เลือด : ของเหลวมหัศจรรย์ของมนุษย์
ถ้าร่างกายขาดเลือดก็ถึงแก่ชีวิต เหมือนที่เราเห็นจากข่าวทั่วไปที่มักพบว่า หลายคนที่ประสบอุบัติเหตุ หรือถูกทำร้ายมีอันต้องเสียชีวิตเพราะ ร่างกายเสียเลือดมาก ทั้งที่อวัยวะอื่นไม่ได้รับความเสียหายหรือบอบช้ำมากมาย หรือบางทีรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอยู่ดีๆ วันดีคืนดีก็มาเสียชีวิตฉับพลันเป็นเพราะการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่กล่าวมานี้ ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น สิ่งมีชีวิตทุกประเภททั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หรือสัตว์เลื้อยคลานก็ล้วนอยู่ในวัฏจักรนี้ทั้งสิ้น
บทแรกนี้ เรามาทำความรู้จักและเข้าใจให้ถ่องแท้กันหน่อยว่า “เลือด” ที่ว่ามีประโยชน์มหาศาลต่อการมีชีวิตของเรานั้นมีอะไรที่เราควรทราบกันบ้าง ?
-
ถ้านำเส้นเลือดทั่วร่างกายมาต่อกันจะมีความยาวถึง 96,000 กิโลเมตร หรือความยาวเท่ากับ 2 เท่าครึ่งของระยะทางรอบโลก โดยเฉลี่ยนแล้วปริมาณเลือดในร่างกายมี 5 – 6 ลิตรในผู้ชาย และ 4 – 5 ลิตรในผู้หญิง และเลือดมีการไหลเวียนผ่านมาที่หัวใจถึง 1,000 เที่ยว/วัน มากกว่าขบวนรถไฟฟ้าหลายร้อยเท่า
-
ในวัยคนหนุ่มสาวมีเซลล์เม็ดเลือดแดงเท่ากับ 35,000,000,000,000 เซลล์ (สามสิบห้าล้านล้านเซลล์) อยู่ภายในร่างกาย ในเวลา 120 วันเซลล์เม็ดเลือดแดงจำนวน 1.2 ล้านเซลล์ถึงจะหมดอายุขัย และถูกขับถ่ายออกมา ขณะเดียวกันไขกระดูก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกระดูกซี่โครง กะโหลกศีรษะ และกระดูกสันหลังจะช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่ให้เท่ากับจำนวนที่ตายไปขึ้นมาแทนที่
-
เลือดในร่างกายแบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ พลาสมาหรือน้ำเหลือง เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
คราวนี้มาทำความรู้จักองค์ประกอบแต่ละตัวพอสังเขป
พลาสมา หรือน้ำเหลือง (Plasma or Serum)
เป็นส่วนน้ำของเลือด ประกอบด้วยสิ่งต่างๆมากมายที่สำคัญ คือ “น้ำ” ซึ่งมีอยู่ประมาณ 92% รองลงมาคือ โปรตีน 8% เช่น แอลบลูมิน อิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งมีความต้านทานต่อโรคติดต่อและเชื้อโรค นอกจากนี้ ยังมีโปรตีนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแข็งตัวของลิ่มเลือด
เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cells)
มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 – 8 ไมโครเมตร รูปร่างเหมือนจานแต่บุ๋มตรงกลางทั้งสองข้าง มีอยู่ทั้งหมดประมาณร้อยละ 40 – 50 ของปริมาตรเลือดทั้งหมดของร่างกายหรือปริมาณ 4 – 5 ล้านเซลล์ต่อเลือด 1 มิลลิลิตรมีอายุในกระแสเลือดได้นานประมาณ 120 วัน ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
โครงสร้างของเม็ดเลือดแดงประกอบไปด้วย สารไลโปโปรตีน (โปรตีนและไขมัน) และมีสารโปรตีนที่จับกับเหล้กที่เรียกว่า ฮีโมโกลบินในคนปกติ ผู้ชายมีฮีโมโกลบินประมาณ 14 – 18 กรัมในเลือด 100 มิลลิลิตร ผู้หญิงมีฮีโมโกลบินประมาณ 12 – 16 กรัมในเลือด 100 มิลลิลิตร
เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells)
เม็ดเลือดขาวมีอยู่ประมาณ 5,000 – 10,000 เซลล์ในเลือด 1 มิลลิลิตร ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว 5 ชนิดต่างกัน โดยอาศัยคุณลักษณะในการติดสีที่ใช้ย้อม และลักษณะของนิวเคลียสเมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ได้แก่ นิวโตรฟิล (Neutrophil) ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) โมโนไซต์ (Monocyte) เบโซฟิล (Basophil) และอีโอซิโนฟิล (Eosinophill) เม็ดเลือดขาวทั้ง 5 ชนิดนี้เสมือนเป็นกองทหารคอยป้องกันการรุกรานจากข้าศึกภายนอกที่เข้าสู่ร่างกาย
เกล็ดเลือด (Platelet)
เป็นชิ้นส่วนของเซลล์ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในไขกระดูก ลักษณะเป็นแผ่นคล้านเกล็ด จึงเรียกว่า “เกล็ดเลือด” มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น โดยปกติคนเรามีเกล็ดเลือดประมาณ 1 – 5 แสนตัวต่อเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร ถ้ามีเกล็ดเลือดต่ำมากๆจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย ซึ่งถ้าเลือดออกในอวัยวะที่สำคัญ เช่น สมอง อาจทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว และยังมีอีกหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูก และโรคติดเชื้อบางชนิด อย่างโรคไข้เลือดออก เป็นต้น
ที่กล่าวมาคือ 4 องค์ประกอบสำคัญของเลือดในร่างกาย แต่มีอีกตัวที่ควรรู้จัก คือ ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบอยู่ในเม็ดเลือดแดงตามที่กล่าวไว้ แต่มันมีความสำคัญมากจึงควรรู้จักกันไว้สักหน่อย
ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) คืออะไร?
ฮีโมโกลบิน เป็นโมเลกุลโปรตีนภายในเซลล์เม็ดเลือดแดง เกิดจากโมเลกุลโปรตีน 4 ตัวที่เชื่อมต่อกัน หรือเรียกว่า สายโกลบูลิน (Globulin Chains) โดยปกติโครงสร้างของฮีโมโกลบินในผู้ใหญ่ประกอบไปด้วยสายโกลบูลินชนิดอัลฟา 2 ตัว และสายโกลบูลินชนิดเบต้า 2 ตัว ส่วนในทารกพบเพียงสายโกลบูลินชนิดอัลฟา 2 ตัวและสายโกลบูลินชนิดแกมมา 2 ตัว ไม่พบสายโกลบูลินชนิดเบต้า แต่เมื่อทารกเริ่มโตขึ้นสายโกลบูลินชนิดแกมมาจะค่อยๆถูกแทนที่ด้วยสายโกลบูลินชนิดเบต้า และกลายเป็นโครงสร้างของฮีโมโกลบินแบบผู้ใหญ่ต่อไป ฮีโมโกลบินที่พบได้ทั่วไปมี 3 ชนิด ได้แก่
- ฮีโมโกลบิน เอ (Hemoglobin A) เป็นฮีโมโกลบินชนิดที่พบได้มากที่สุดในคนวัยผู้ใหญ่ แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น ธาลัสซีเมียขั้นรุนแรงอาจมีฮีโมโกลบินชนิดนี้ลดลงได้
- ฮีโมโกลบิน เอฟ (Hemoglobin F) พบในทารกที่อยู่ในครรภ์และเด็กแรกเกิด ซึ่งฮีโมโกลบินชนิดนี้จะถูกแทนที่ด้วยฮีโมโกลบิน เอ ภายในไม่นานหลังจากเกิด หลังจากนั้น ร่างกายจะผลิตฮีโมโกลบิน เอฟ ออกมาในปริมาณน้อยมาก แต่หากป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจพบฮีโมโกลบินชนิดนี้ในปริมาณสูงได้
- ฮีโมโกลบิน เอ2 (Hemoglobin A2) เป็นฮีโมโกลบินที่พบในผู้ใหญ่ แต่มีปริมาณเพียงเล็กน้อย
นอกจากนี้ ยังมีฮีโมโกลบินชนิดที่ผิดปกติอีกกว่า 350 ชนิด ซึ่งอาจพบในผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบเลือด หรือคนบางกลุ่มชาติพันธุ์ โดยในบทแรกนี้ เราได้ทำความรู้จักกับเลือดในร่างกายแค่หอมปากหอมคอเท่านี้กันก่อน และในบทต่อไปจะกล่าวถึงหน้าที่สำคัญของเลือดกัน
(อ้างอิงจาก : วิน เชยชมศรี. (2562). เลือดจระเข้, (1), 9-22.)