หน้าที่สำคัญของเลือด

หน้าที่สำคัญของเลือด

เลือดจระเข้_330x248_2

     

        "เลือด" เป็นของเหลวสีแดงที่ไหลเวียนอยู่ภายในหลอดเลือดไปทั่วทุกซอก ทุกมุมในร่างกาย โดยสูบฉีดจากหัวใจที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เกิดจนตายโดยไม่มีค่าโอที ไม่มีวันหยุดราชการทำหน้าที่สำคัญ คือ

1. ขนส่งก๊าสออกซิเจนจากการหายใจเข้า และลำเลียงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายเมื่อหายใจออก

2. ขนส่งสารอาหารโดยการดูดซึมสารอาหารจากกระเพาะอาหาร และลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดแล้วไหลเวียนผ่านไปยังตับ และส่งต่อให้เซลล์เนื้อเยื่อของอวัยวะทุกอวัยวะในร่างกาย

3. ทำหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในเวลาที่ร่างกายขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ที่จำเป็น เลือดจะทำหน้าที่รักษาสมดุลไม่ให้มีมากไปหรือน้อยไป

4. ปรับระดับอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่โดยการไหลเวียนไปทั่วร่างกาย

         นอกจากนั้น เลือดยังเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ให้อยู่รอดไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือแม้แต่ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สภากาชาดและโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วโลกจึงจำเป็นต้องมีเลือดสำรองไว้เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยในยามจำเป็น มีนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามค้นคว้ามาเป็นเวลานานในการหาสารประกอบอื่นมาใช้ทดแทนเลือด แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ฉะนั้น จึงจำเป็นที่ต้องให้เลือดจากมนุษย์บริจาคให้แก่กัน ซึ่งองค์ประกอบต่างๆในเลือดมีหน้าที่ต่างกันไป ดังนี้

        เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่นำออกซิเจนที่ได้จากปอดไปเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย โดยอาศัยฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) เป็นตัวนำออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ต่างๆ และพาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากเซลล์เพื่อกำจัดออกจากร่างกายในกระบวนการต่อไป การขาดเม็ดเลือดแดงจะทำให้เป็นโรคโลหิตจางได้ ดังนั้น เม็ดเลือดแดงจึงมีความจำเป็นอย่างมากในการนำไปรักษาผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรืออาการซีดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เช่น โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาการไหลเวียนของเลือดย่อมทำให้อวัยวะต่างๆขาดสารอาหาร และได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมาได้อีกหลายโรค

         เม็ดเลือดขาว มีหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกัน เปรียบเสมือนเป็นกองทัพทหารที่คอยป้องกันการรุกล้ำจากสิ่งแปลกปลอมทุกชนิด ซึ่งมันจะคอยทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมให้แก่ร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดขาวมีอายุประมาณ 2 -3 วัน โดยเม็ดเลือดขาวแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ด้วยกันคือ

  1. Neutrophil (นิวโทรฟิล) มีบทบาทสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราและจุลชีพอื่นๆที่ก่อให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย เม็ดเลือดขาวชนิดนี้เป็นเหมือนด่านแรกของการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันหากร่างกายได้รับเชื้อโรค ซึ่งถ้ามีการทำงานหรือเกิดการตายขึ้นจะแสดงออกมาในรูปของหนอง

  2. Lymphocyte (ลิมโฟไซต์) มีหน้าที่ต้านสิ่งแปลกปลอม เช่น ไวรัสที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้

  3. Monocytes (โมโนไซต์) มีหน้าที่คล้ายคลึงกับ Neutrophil สามารถกินเชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรีย และยีสต์ได้

  4. Basophils (บาสโซฟิลส์) มีบทบาทสำคัญในปฏิกิริยาภูมิแพ้ และสามารถหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรง

  5. Eosinophils (อีโอซินโนฟิลส์) ทำหน้าที่หลั่งเอนไซม์หรือสารฮีสตามีน (Histamine) เพื่อทำลายพวกพยาธิ (parasite) ต่างๆ และจะตอบสนองเพิ่มขึ้นเมื่อมีพยาธิต่างๆ หรือเป็นโรคภูมิแพ้

         เกล็ดเลือด (Platelet) มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการห้ามเลือดโดยตรง โดยจะรวมตัวเป็นกระจุก (Platelet plug) อุดตรงบริเวณที่มีหลอดเลือดฉีกขาด เราจะสังเกตเห็นได้ชัดเมื่อเรามีบาดแผลที่ผิวหนัง เมื่อเรากดแผลไว้สักครู่เลือดจะหยุดไหลได้นั่นเป็นเพราะเกล็ดเลือดได้ทำหน้าที่มาอุดบริเวณบาดแผลนั่นเอง นอกจากนี้แล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในกลไกการแข็งตัวของเลือด โดยเป็นปัจจัยในการแข็งตัวของเลือด (platelet factors I, II, III และ IV) อีกด้วย หน้าที่อื่นนอกจากนี้คือ การนำสารต่างๆไปกับตัวเกล็ดเลือดด้วย คือ สารซีโรโทนิน (serotonin) สารอะดรีนาลีน (adrenaline) และนอร์อะดรีนาลีน (noradrenaline) เกล็ดเลือดสามารถหลั่งสารที่เป็นปัจจัยในการเติบโต (platelet-released growth factors) เหนี่ยวนำให้เกิดสารต้านจุลชีพ และยังพบอีกว่า เกล็ดเลือดสามารถจับมวลสารขนาดเล็ก เช่น ไวรัสได้ด้วย ดังนั้น เกล็ดเลือดจึงมีความสำคัญในการต่อต้านเชื้อโรคด้วย

ในคนที่มีปัญหาเกล็ดเลือดต่ำ หรือทานยาละลายลิ่มเลือดจะเกิดปัญหาเลือดไหลไม่หยุด ซึ่งต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผล

          ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) คือ ส่วนประกอบสำคัญของเลือดที่ขาดไม่ได้ เพราะมีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ความผิดปกติเพียงเล็กน้อยของระดับฮีโมโกลบินในเลือดอาจเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพหลายประการ หากมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับฮีโมโกลบินเพียงพอจะช่วยให้ตระหนักถึงความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือปัญหาสุขภาพได้อย่างถูกต้องเมื่อเกิดความผิดปกติของระดับฮีโมโกลบิน

        นอกจากนั้น ฮีโมโกลบินยังทำหน้าที่ช่วยรักษารูปร่างของเม็ดเลือดเเดงให้เป็นปกติ คือ มีลักษณะเป็นวงกลมและตรงกลางเว้าคล้ายโดนัท แต่ไม่เป็นรูหากโครงสร้างฮีโมโกลบินผิดปกติไปจะส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างแปลกออกไป และอาจไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดให้เกิดความไม่สะดวกได้

 

การตรวจหาความผิดปกติของฮีโมโกลบิน

        ด้วยความสำคัญของฮีโมโกลบินที่มีต่อร่างกายและเป็นตัวบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของเลือด การตรวจเช็คความผิดปกติของร่างกาย หรือความผิดปกติของฮีโมโกลบินจึงสำคัญ โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะตรวจวัดระดับ หรือตรวจชนิดฮีโมโกลบิน หากสงสัยว่าอาการเจ็บป่วยอาจเกิดจากความผิดปกติของฮีโมโกลบิน โดยวิธีตรวจที่นิยมใช้ ได้แก่

  • การตรวจวัดความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count : CBC)

เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากจะช่วยระบุได้ว่าผู้ป่วยมีระดับฮีโมโกลบินสูงหรือต่ำกว่าปกติ ซึ่งระดับฮีโมโกลบินที่ผิดปกติอาจบ่งบอกถึงโรคบางชนิดได้

  • การตรวจชนิดของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin Electrophoresis)

เป็นการตรวจชนิดของฮีโมโกลบินในเลือดโดยเฉพาะช่วยให้แพทย์ระบุอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น วิธีนี้ใช้วินิจฉัยโรคโลหิตจางบางชนิด ตรวจวัดการรักษาโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของฮีโมโกลบิน รวมทั้งตรวจประเมินความเสี่ยงในการถ่ายทอดพันธุกรรมโรคโลหิตจางไปสู่ลูก

 

ระดับฮีโมโกลบินในเลือดควรมีปริมาณเท่าไหร่ ?

คนปกติมีระดับฮีโมโกลบินแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ เพศ อายุ ความสูง รวมทั้งพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ซึ่งระดับฮีโมโกลบินโดยทั่วไปควรแสดงค่า ดังนี้

- เด็กแรกเกิด มีค่าฮีโมโกลบิน 14 - 24 กรัมต่อเดซิลิตร

- ทารก มีค่าฮีโมโกลบิน 9.5 - 13 กรัมต่อเดซิลิตร

- ผู้ชาย มีค่าฮีโมโกลบิน 13.8 - 17.2 กรัมต่อเดซิลิตร

- ผู้หญิง มีค่าฮีโมโกลบิน 12.1 - 15.1 กรัมต่อเดซิลิตร

 ทั้งนี้ ระดับฮีโมโกลบินที่ตรวจวัดจริงอาจแตกต่างจากข้างต้นได้เล็กน้อยขึ้นอยู่กับวิธีตรวจและเกณฑ์การวัด ผู้รับการตรวจควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลการตรวจโดยละเอียดจะดีที่สุด

       ระดับฮีโมโกลบินในเลือดนั้นสามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ เนื่องจากการลดลงหรือเพิ่มขึ้นของระดับฮีโมโกลบินที่ผิดปกตินั้นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆได้มากมาย เช่น ภาวะขาดสารอาหาร โรคเกี่ยวกับไขกระดูก โรคมะเร็งบางชนิด โรครูมาตอยด์ และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น

 

 

(อ้างอิงจาก : วิน เชยชมศรี. (2562). เลือดจระเข้, (1), 23-42.)